ภาษาไทย English Language

                                                                      

ขอแนะนำเข้าสู่การเต้นรำในจังหวะ ตะลุง (Taloong Tempo)

ประวัติความเป็นมา

ตามคำเล่าขานสืบต่อกันมา จังหวะตะลุงนี้ได้เริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 หรือประมาณ 67 ปีมาแล้ว โดยลอกเลียนและพัฒนามาจากศิลปะการเชิดหรือชักหนังตะลุง อันเป็นที่นิยมของชาวภาคใต้ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะคือ ความมีชีวิตชีวา ยั่วเย้า หยอกล้อ และหลอกล่อ โดยปกติแล้วในท่าพื้นฐานจะใช้การก้าวนำด้วยไหล่ด้านซ้าย ในลักษณะที่เฉียงซ้อนกัน

ท่วงทำนองของดนตรี

ดนตรีของจังหวะนี้แต่เดิมที่เป็นจุดเด่น คือ การเน้นเสียงดนตรีของฉิ่ง ผสมผสานกับเครื่องดนตรีไทยอื่น เช่น ฆ้อง กลอง กรับ โหม่ง ฯลฯ ในยุคสมัยที่วงดนตรีสุนทราภรณ์กำลังเป็นที่นิยม ดนตรีของจังหวะตะลุงก็ได้ถูกนำมาขัดเกลาและพัฒนาโดยปรมาจารย์ทางดนตรีและนักแต่งเพลงชื่อดังในยุคนั้น ครูเอื้อ สุนทรสนาน และครูล้วน ควันธรรม โดยใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ประยุกต์กับเครื่องดนตรีสากล และได้ประพันธ์บทเพลงขึ้น เพื่อให้ท่วงทำนองสอดคล้องกับการละเล่นของดนตรี ทำให้เกิดความไพเราะสนุกสนานและเร้าอารมณ์จนเป็นที่นิยมและแพร่หลายอย่างมากในสมัยนั้น

รูปแบบของจังหวะตะลุง

ช่วงเวลานั้นเอง อาจารย์สง่า ล้อมวงศ์พานิช ปรมาจารย์ทางลีลาศของไทย ได้เริ่มคิดค้นท่าแม่แบบต่างๆขึ้นเพื่อสามารถลีลาศเข้ากับจังหวะดนตรีของตะลุงจนประสบความสำเร็จ และเริ่มทำการสอนให้กับบรรดาลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มมีการเผยแพร่ตามสถานสอนลีลาศต่างๆ และได้พัฒนาเรื่อยมาจนมีท่าเต้นที่หลากหลาย มีความเป็นมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น มีการแสดงสาธิตในงานรื่นเริง งานราตรีสโมสร และงานสังสรรค์ต่างๆ รวมถึงจัดให้มีการแข่งขันชิงแชมป์เปี้ยนในจังหวะตะลุงขึ้น จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วซึ่งบรรดาท่าแม่แบบเหล่านั้น เหล่าบรรดานักเต้นจังหวะตะลุงยังใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน

       การสื่อความหมายของจังหวะตะลุง

ความสำคัญของจังหวะนี้ อยู่ที่การโยกและโยน การใช้กล้ามเนื้อของลำตัว ควบคุมการเคลื่อนไหว เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นของข้อเท้า นักเต้นจังหวะตะลุงที่ดีควรตระหนักถึงการใช้น้ำหนัก โดยไม่พยายามเพิ่มเติมน้ำหนักลงไปในการเคลื่อนไหวที่เป็นจริง โดยมุ่งประเด็นไปที่ลักษณะของการเน้น และควบคุมการโอนถ่ายของน้ำหนักจากเท้าข้างหนึ่งไปยังเท้าอีกข้างหนึ่ง ลักษณะของการยืดหยุ่นก่อให้เกิดการย่นย่อและเหยียดตึง ในแต่ละครั้งของการยืดขึ้นและหน่วงลงใช้เวลา 1/2 บีทของดนตรี เท้าที่เข้าไปแตะชิดอยู่ที่ครึ่งบีทหลังของดนตรี

ลักษณะเฉพาะของจังหวะตะลุง


เอกลักษณ์เฉพาะ                        การยั่วเย้า หยอกล้อ หลอกล่อ เบิกบาน และมีชีวิตชีวา
การเคลื่อนไหว                           การใช้ความยืดหยุ่น โยกและโยน โดยควบคุมด้วยกล้ามเนื้อของลำตัวและความต่อเนื่อง
ห้องดนตรี                                 4 / 4
ความเร็วต่อนาที                          22-24 บาร์ต่อนาที
การเน้นจังหวะ                            เน้นบน Beat ที่ 1 และการเน้นเคาะของครึ่งบีทหลัง
ระยะเวลาที่ใช้ในการแข่งขัน           2 นาที ไม่เกิน 3 นาที
การขึ้นลง                                  การยืดหยุ่น โยกและโยน
หลักพลศาสตร์                           ความหนักหน่วง ยืดหยุ่น และทันเวลา
                                                                                                                       

  สมาคมกีฬาลีลาศแห่งประเทศไทย

 

©2019 สมาคมกีฬาลีลาศแห่งประเทศไทย. All rights reserved.

Powered By Dgen Soft Co.,Ltd.